วันอาทิตย์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2557

สอดส่อง ขุดคุ้ยตำนานรถ Episode 01 : กระบะ Toyota

  หากพูดถึงค่ายรถที่มีประวัติในเมืองไทยมายาวนาน ค่ายหนึ่งที่ไม่ควรที่จะไม่พูดถึงอย่างยิ่งก็คือ Toyota ที่อยู่คู่คนไทยมาตลอด 50 กว่าปีแล้ว ซึ่งก็เป็นหนึ่งในค่ายที่คนไทยไว้ใจและผูกพันมากที่สุด ด้วยศูนย์บริการที่เยอะและ After Sale ที่น่าจะดีในหลายๆศูนย์ ก็จะมีบางศูนย์นี่หละ โดยเฉพาะศูนย์ในจังหวัดภาคตะวันตกที่เป็นข่าวดราม่าในพันทิปมาแล้ว แต่ยังไงก็ตามค่ายนี้ก็ยังเป็นหนึ่งในค่ายที่คนไทยไว้ใจและมองเป็นตัวเลือกแรกๆเมื่อจะซื้อรถใหม่


   หนึ่งในรถที่เป็นประวัติศาสตร์ในเมืองไทยของ Toyota ก็คือกระบะตระกูล Hilux ที่สร้างชื่อให้กับ Toyota มากี่ทศวรรษแล้ว ไม่ว่ากี่ปีๆ มันก็ยังทำตัวเป็นกระบะจอมอึด จอมทนทาน และยิ่งโฉมใหม่ที่ใกล้คลอดเต็มที่แล้ว ยิ่งทำให้ผู้เขียนสนใจที่จะลองค้นหาประวัติของกระบะคันนี้มาฝากท่านผู้อ่าน ได้ศึกษาเพื่อฆ่าเวลาก่อนที๋โฉมใหม่จะมาให้เราได้ตะลึงตึงตึงกันครับ มาชมประวัติของกระบะ Hilux กันครับ

Toyota Hilux Gen 1 : 1968-1972  
     Toyota Hilux โฉมแรกนี้ เริ่มผลิตครั้งแรกในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2511 แรกเริ่มเดิมทีคันนี้จะใช้ชื่อว่า Toyopet ครั้งแรกในช่วงเปิดตัว 1 ปีให้หลังก็เปลี่ยนใช้เป็น Toyota จนทุกวันนี้ ชื่อรุ่นว่า Hilux มาจากคำว่า "highly-luxurious" แปลว่า หรูหราเหนือระดับ โฉมแรกนี้มีรหัสตัวถัง RN10 มีขายในสหรัฐอเมริกาด้วย แต่จะมีรถแบบเดียวคือแบบ 2 ประตู ส่งกำลังด้วยเกียร์ธรรมดา 4 สปีด ขับเคลื่อนล้อหลัง (สมัยนั้นยังไม่มีการนำเกียร์อัตโนมัติและเกียร์ธรรมดา 5 สปีดมาใช้ในไฮลักซ์) ส่วนเครื่องยนต์จะใช้ขนาด 1490 ซีซี 2R I4 ในช่วงแรกๆ 
    ต่อมาใน พ.ศ. 2514 ไฮลักซ์ก็ได้เปลี่ยนเป็นเครื่องยนต์ 1587 ซีซี 12R I4 ยกเว้นในสหรัฐอเมริกา ที่จะใช้เครื่องยนต์ที่ใหญ่กว่า คือ เริ่มจาก 1897 ซีซี 3R I4 85 แรงม้า, แล้วเปลี่ยนเป็น 1858 ซีซี 8R SOHC I4 97 แรงม้าใน พ.ศ. 2513, และเป็น 1968 ซีซี 18R SOHC I4 108 แรงม้าใน พ.ศ. 2515

Toyota Hilux Gen 2 : 1972-1978
   โฉมนี้มากับรหัสตัวถัง RN20 และมีฉายาว่า "ท้ายหงส์" มีการปรับปรุงให้มีความสะดวกสบายในห้องโดยสารมากขึ้น ใช้เครื่องยนต์ 1587 ซีซี 12R I4 ยกเว้นในอเมริกา ที่ใช้เครื่องยนต์ 1968 ซีซี 18R SOHC I4 108 แรงม้า ซึ่งต่อมาเครื่องยนต์นี้ถูกนำไปขายควบคู่เป็นทางเลือกกับเครื่อง 1587 ซีซี นอกอเมริกาใน พ.ศ. 2520 
   และในปีพ.ศ. 2518 ไฮลักซ์มีการปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ ให้มีขนาดใหญ่และสะดวกสบายขึ้นอีก มีการนำระบบเกียร์ธรรมดา 5 สปีดมาใช้ในไฮลักซ์เป็นครั้งแรก ใช้เครื่องยนต์ 2189 ซีซี 20R SOHC I4 96 แรงม้า ทำให้ผู้ซื้อในอเมริกัน ตั้งชื่อเล่นให้มันว่า Pickup เลยกลายเป็นต้นกำเนิดของคำว่าปิคอัพที่แปลว่ารถกระบะนั่นเองครับ

Toyota Hilux Gen 3 : 1979-1983
    เปลี่ยนรูปโฉมของตัวรถ เริ่มมีทรวดทรงที่เป็นไปตามหลักอากาศพลศาสตร์ ด้วยลักษณะของความโค้งมนทาง ด้านหน้ารถ และใช้ไฟหน้าในรูปแบบ ไฟกลม เรียกว่ารุ่น Hilux Super Star รหัส RN30 ซึ่งจะมีแบบช่วงยาว ให้เลือกหาในรุ่น RN40 เครื่องยนต์ยังเป็น 12R เหมือนเดิม เป็นคันที่คนไทยขนานนามว่ามันคือ “รุ่นม้ากระโดด" 

   และใน พ.ศ.2533 เป็นการครั้งแรกของกระบะคันนี้เครื่องยนต์ดีเซล ในรถกระบะ Toyota ครั้งแรก
โดยติดตั้งบนบอดี้ Hilux Super Star เครื่องยนต์รหัส L 2,200 ซีซี และในวงการสมัยเรียกว่า “รุ่นกรุง ศรีวิไล” อันเนื่องมาจากเป็นพรีเซนเตอร์ให้รถกระบะนั่นเองครับ และมีการเปลี่ยนโคมไฟหน้าแบบสี่เหลี่ยมมน 

    
    โดยรุ่นนี้เป็นโฉมแรกที่ไฮลักซ์มีการผลิตรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ ซึ่งมีการสั่งเข้ามาใช้ของหน่วยงานราชการได้แก่ กรมป่าไม้, กรมแผนที่ทหาร และเป็นโฉมที่มีการใช้เกียร์อัตโนมัติกับไฮลักซ์ด้วย โดยโฉมบุกเบิกนี้จะเป็นเกียร์อัตโนมัติ 3 สปีด ขายควบคู่กับเกียร์ธรรมดา 4 และ 5 สปีด ทำให้ไฮลักซ์ได้โลดเล่นเข้าสู่วงการรถ SUV และรถโตโยต้า โฟร์รันเนอร์ (4Runner) ก็เป็นรุ่นที่แตกหน่อออกมาจากไฮลักซ์โฉมนี้ด้วยครับ

Toyota Hilux Gen 4 : 1984-1988
    กระบะคันนี้ได้รับสมญานามต่อท้ายว่า Hilux Hercules เป็นโฉมแรกที่ไฮลักซ์มีการผลิตกระบะรุ่นที่นั่ง 2 แถว 2 ประตู (เอ็กซ์ตร้าแค็บ) ขายคู่กับที่นั่ง 1 แถว 2 ประตูแบบดั้งเดิม (ซิงเกิ้ลแค็บ) โฉมนี้ได้พรีเซนเตอร์ คือ ไทด์-เอกพันธ์ บรรลือฤทธิ์ และในปีพ.ศ. 2529 สหรัฐอเมริกาหยุดการนำเข้าโตโยต้า ไฮลักซ์ อย่างไม่ทราบสาเหตุครับ เครื่องยนต์มากับเครื่องยนต์เบนซินรุ่น 1Y ดีเซลเป็น 2L ซึ่งย้ายแค็มชาฟท์ขึ้นมาอยู่ในลักษณะ OHC แล้วเพิ่มความจุขึ้นไปในระดับ 2,500 ซีซี โดยมีแรงม้าสูงสุดเท่าเดิมแต่มากันครบตั้งแต่ในรอบเครื่องที่ต่ำกว่า และได้แรงบิดที่มีขึ้นในรอบเครื่องที่น้อยกว่าเช่นกัน



   ต่อมาช่วงเวลาของปี พ.ศ.2530 (ค.ศ.1987) ได้มีการขยับขยายจัดตั้งโรงงานประกอบและผลิตเครื่องยนต์โดยการร่วมทุนกับ บริษัท สยามซีเมนต์ จำกัด และผู้ถือหุ้นรายอื่นๆในประเทศไทยด้วยการก่อตั้ง บริษัท สยามโตโยต้าแมนูแฟคเจอริ่ง จำกัดขึ้น และพร้อมกันนั้นก็ได้ทำการเปิดตัวรุ่น Hilux Hero ซึ่งยังคงใช้โครงสร้างหัวเก๋งทรงเดิมแต่เปลี่ยนส่วนประกอบอื่นๆเช่น กระจังหน้าให้เป็นทรงใหม่พร้อมกับเปลี่ยนเครื่องยนต์ดีเซลมาเป็นรุ่นที่พัฒนาขึ้นมาใหม่เป็น 2 L IIที่มีเรี่ยวแรงเพิ่มขึ้นมาอีก 2kw แต่แรงบิดสูงสุดจะใช้รอบเครื่องสูงขึ้นไปอีกนิดเป็นที่ 2,400 รอบแล้วเปลี่ยนเครื่องเบนซินให้เป็นรหัส 2Y ที่มีความจุมากขึ้นเป็นระดับ 1,800 ซีซี. และเริ่มมีรุ่นดับเบิ้ลแค็บออกมาให้สั่งทำผ่านทางผู้แทน จำหน่ายในฐานะ รถกระบะดัดแปลง โดยในช่วงท้ายๆ ของรุ่นยังได้นำรูปแบบ X-tra Cab ออกมาต่อสู้กับคู่แข่งเป็นครั้งแรก แต่ด้วยเหตุที่รูปแบบมาตรฐานที่มีใช้อยู่กับรุ่นที่ขายในอเมริกาจะมีส่วนของแค็บที่ยืนออกไปทางด้านหลังแค่กระติ๊ดเดียวจึงมีการออกแบบและดัดแปลงเฉพาะแค่รุ่นในประเทศไทยให้ใหญ่และยาวขึ้นแถมยังมีส่วนของหลังคาเป็นแบบ Hi-roof น้อยๆ อีกด้วย

Toyota  Hilux Gen 5 : 1989-1998
    โฉมนี้ถือเป็นโฉมหนึ่งที่ขายดีและเป็นหนึ่งในใจของคนไทย มากับชื่อที่ใครๆก็คุ้น Hilux Mighty-X
โฉมนี้เป็นโฉมแรกที่มีบอดี้แบบ 2 แถว 4 ประตู(ดับเบิ้ลแค็บ) เกียร์อัตโนมัติเพิ่มจาก 3 สปีด เป็น 4 สปีด และยังได้รับรางวัล Truck of the Year (รถบรรทุกแห่งปี) ประจำปี พ.ศ. 2532 โฉมนี้ประสบความสำเร็จดีมาก และผลิตอยู่นานถึง 9 ปี เจ้าคันนี้บริษัทโฟล์กสวาเก้น (Volkswagen) ยังได้เซ็นสัญญาดูแลและนำไฮลักซ์ (เฉพาะโฉมนี้) เข้าสู่ตลาดรถยนต์ในเยอรมนี ในชื่อ โฟล์กสวาเก้น ทาโร่ (Volkswagen Taro) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 ถึงปี พ.ศ. 2540ใน พ.ศ. 2538 โตโยต้าได้ผลิตรถกระบะรุ่น โตโยต้า ทาโคม่า (Toyota Tacoma) เพื่อส่งรถกระบะโตโยต้าเข้าตลาดอเมริกาอีกครั้งแทนรุ่นไฮลักซ์ที่จู่ๆ อเมริกาก็หยุดนำเข้าไปตั้งแต่ พ.ศ. 2529

      ในรูปแบบตัวถัง X-Tra Cab หัวเก๋งตอนครึ่ง จะใช้ช่วงล่างแบบ หน้าทอร์ชั่น-หลังแหนบ พร้อมเครื่องตัวเก่งในรหัส 3L ที่ผลิตจากออสเตรเลียเข้ามาจำหน่าย ในส่วนของรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน ก็จะถูกถอดออกจากสายพานการผลิตนับแต่ในช่วงนี้แถมด้วยการเปิดตัว Taw ซึ่งเป็นโรงงานในเครือ เพื่อทำหน้าที่ในการประกอบ รถกระบะดัดแปลง อันได้แก่รุ่น ดับเบิ้ลแค็บออกมาอย่างเป็นทางการ และอีกแค่เพียงสองปีต่อมา หรือใน คศ.1996 ก็ปรับโฉมอีกครั้งด้วยรุ่น ไฟเต็มที่เปลี่ยนด้านหน้าให้เหมือนรุ่น 4x4 ที่มีไฟเลี้ยวทรงเฉียงขึ้นพร้อมด้วย โป่งล้อหน้า แล้วเพิ่มความสะดวกสบายในการขับขี่ ให้ด้วยเกียร์อัตโนมัติ ที่ควบคู่มากับเครื่อง 2 L II โดยในช่วงปลายปีเดียวกันก็เพิ่มทางเลือกมาให้ด้วยรุ่น Mighty X-Plus เปลี่ยนแปลงพลังเป็นเครื่อง 3 L ในระดับ 2,800 ซีซี.


Toyota Hilux Gen 6 : 1998-2004
    Toyota คันนี้มีชื่อพ่วงท้ายว่า Toyota Hilux Tiger เจ้าคันนี้โด่งดังในโฆษณาชุดหนึ่งของ Toyota ที่จับเอา ปีเตอร์ คอร์ป ไดเรนดัล มาเป็นพรีเซนเตอร์โฆษณารถกระบะคันนี้ ด้วยฉากไล่ล่าที่ผาดโผน น่าจะตรึงตาหลายๆคน ว่ากันว่าทีมงานที่ถ่ายทำโฆษณานี้ยกมาจากทีมสตั้นของภาพยนตร์ 007 ด้วย ถือเป็นหนึ่งในโฆษณาของ Toyota ที่โคตรลงทุนเลย รู้มั้ยว่าเพื่อนสมาชิกเพจเคยเล่าให้ฟังว่า ญาติดูโฆษณานี้แล้วจองซื้อรถเลยละครับ มีมากันแบบครบเครื่องทั้งแบบ4x2 และ 4x4 พร้อมด้วยแหล่งพลังในรูปแบบ ดีเซลล้วนๆ สองเครื่องนั่นคือ 2L II ตัวดั้งเดิมและ 5L ตัวใหม่ในระดับ 3,000 ซีซี แต่ปรากฎว่าพลังที่ได้จากเครื่องใหม่ที่มีขนาดความจุเพิ่มขึ้นมา กลับไม่ค่อยเป็นที่น่าประทับใจนักทั้งในเรื่องของความแรงและความประหยัด 

    อีก 2 ปีต่อมาคือ พ.ศ.2543 (ค.ศ.2000)ที่มีการบังคับใช้ข้อกำหนดในเรื่องของ ค่าไอเสีย มิให้พ่นมลภาวะออกมาในระดับที่เทียบได้กับ ยูโร II เพื่อเป็นการรองรับมาตรการคุมเข้มดังกล่าวจึงได้มีการปรับปรุงเพิ่มเติม ด้วยการนำชุดควบคุมอิเล็คทรอนิคส์มาติดตั้งเข้าไประบบปั๊มหัวฉีดจนกลายมาเป็น 5L-E ที่ให้พลกำลังเพิ่มขึ้นมาอีกนิด พร้อมกันนั้นก็นำความแรงในพิกัด 3,000 ซีซี-เทอร์โบที่ได้มาจาก 1KZ-TE เพิ่มเข้ามาในแถวและจัดให้เป็นรุ่นสุดยอด แต่ก็ยังไม่เปรี้ยงปร้างเท่าที่ควร



   ในปี พ.ศ.2544 (ค.ศ.2001) Toyota ได้งัดเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดในตอนนั้นในระดับ Direc Injection-DOHC-16 Value-Turbo-Common rail ได้เข้ามาเสริมขบวนดังที่เป็นเครื่องยนต์ล่าสุดอยู่ในปัจจุบัน ในรหัส2KD-FTV เครื่องยนต์ของ D4D (Diesel 4 Stroke Direct Injection) ปี 2003 และปี 2004 นั้น มีด้วยกัน 3 แบบครับ
กำลังสูงสุด 2.5 เก่า (75 kw/3,800 RPM) แรงบิดสูงสุด 200 NM/1,400-3,200 RPM
กำลังสูงสุด 2.5 ใหม่ (75 kw/3,600 RPM) แรงบิดสูงสุด 200 NM/1,400-3,200 RPM
กำลังสูงสุด 2.5 IC (80 kw/3,800 RPM) แรงบิดสูงสุด 320 NM/2,000 RPM
นอกจากนั้นในเรื่องรูปทรงของตัวรถก็ยังได้นำรูปแบบ ดับเบิ้ลแค็บ ให้เข้าไปอยู่ในกลุ่มที่ออกมาจากสายพานการผลิต ซึ่งถือได้ว่าเป็นผลิตผลจากโรงงานโดยตรงไม่ใช่ รถกระบะดัดแปลงอีกต่อไปครับ


Toyota Hilux Gen 7 : 2004-Present


   โฉมนี้ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่พลิกโฉมตลาดกระบะ ณ ตอนนั้น และที่สำคัญด้วยความยิ่งใหญ่ของมัน จึงทำให้มันโค่น Isuzu ที่เป็นผู้นำกระบะมานานลงได้ จนตอนนี้แม้ว่า Isuzu จะออกโฉมใหม่แล้ว ก็ยังไม่สามารถโค่นพี่ใหญ่ลงได้เลย เจ้าคันนี้มากับชื่อเล่นชื่อว่า Hilux Vigo ซึ่งมากับรุ่นซิงเกิลแค็บ, เอ็กซ์ตร้าแค็บ และดับเบิลแค็บ และซอยรุ่นย่อยกันหลายรุ่นทีเดียว โดยเจ้าคันนี้ช่วงแรกๆจะมากับเครื่องยนต์ดีเซล 2 ขนาด คือ 2.5 ลิตร (รหัส 2KD-FTV) และ 3.0 ลิตร (รหัส 1KD-FTV) สูงสุด 163 แรงม้าส่วนเครื่องยนต์เบนซิน VVT-i ขนาด 2.7 ลิตร เปิดตัวเดือนพฤศจิกายนของปี 2004 เครื่องยนต์ที่เป็นตัวเด่นและชูโรงให้ Vigo เป็นกระบะที่แรงที่สุดในขณะนั้น คือ1KD-FTV โดยจะประจำการอยู่ในหลายๆรุ่นตั้งแต่รุ่น Single Cab,Smart Cab,Double Cab,Prerunner และ รุ่น 4x4 ซึ่งในปัจจุบันก็เอาเครื่อง 3.0 จากตัว Single Cab และ Smart Cab 4x2 ออกแล้วครับ 

   เครื่องยนต์ 2KD-FTV มี 2 รุ่นย่อย ได้แก่ 2KD-FTV และ 2KD-FTV-IC (2.5อินเตอร์) โดยช่วงแรกๆของการทำตลาด รุ่น 2.5 อินเตอร์จะประจำอยู่ในรุ่น4x4เท่านั้น ต่อมาระยะหลังได้ประจำในทุกๆรุ่นที่จำหน่าย

     หลังจากนั้นในรุ่นไมเนอร์เชนจ์ ปี 2008 Hilux Vigo ก็ได้ให้เราได้ทำความรู้จักกับระบบ VN Turbo ในปี 2008  ซึ่งมากับระบบเทอร์โบแปรผันในเครื่อง 2KD-FTV เพิ่มแรงม้าเป็น144แรงม้า แรงบิดเท่ากับตัว 3.0 แต่รอบแคบกว่า รหัส 2TR-FE 2.7ฺ VVT-i มีบรรจุอยู่ในรุ่น 4x4 เกียร์ Auto แต่การตอบรับจากตลาดน้อยมากจึงเลิกผลิตไปในปี2551 แต่ในปัจจุบันได้นำเครื่อง2.7 VVT-i กลับมาบรรจุในบอดี้ขับเคลื่อน 2 ล้อ เกียรธรรมดาอีกครั้ง และที่สำคัญรุ่นปี 2008 ก็ได้สร้างความตื่นตะลึงกับวงการกระบะด้วยระบบความปลอดภัยครบเซตตั้งแต่ ABS EBD VSC และ TRC ในรุ่นท็อป ซึ่งเป็นครั้งแรกในวงการกระบะไทยตอนนั้น

   ในปี 2011 Toyota ได้ทำการปรับโฉมครั้งใหญ่ พร้อมชื่อท้ายที่เพิ่มเข้ามากลายเป็น Hilux Vigo Champ โปรโมทระบบหัวฉีดน้ำมันใหม่ Diamond Tech และได้เพิ่มระบบอินโฟเทนเมนต์ทันสมัยเข้ามาหลายอย่าง แต่ได้ตัดระบบความปลอดภัยในส่วนระบบ VSC และ TRC ออกเพราะเหตุผลเรื่องต้นทุนที่ต้องเพิ่มระบบนำทางและกล้องมองหลังเข้ามา ซึ่งสงวนไว้เฉพาะรุ่น 3.0 Prerunner และ 3.0 4x4 เท่านั้นครับ

และต่อมาในปี 2012 Toyota ได้เพิ่มรุ่นย่อยใหม่ 6 รุ่น ได้แก่ 
- Toyota Hilux Vigo Champ 2.5J (VNT) รุ่นพื้นฐาน ขับเคลื่อน 2 ล้อ
- Toyota Hilux Vigo Champ Smart Cab 2.5G (VNT) ขับเคลื่อน 2 ล้อ
- Toyota Hilux Vigo Champ Prerunner 2.5E ABS (NAVI)
- Toyota Hilux Vigo Champ Prerunner Double Cab 2.5E ABS (NAVI)
- Toyota Hilux Vigo Champ Prerunner 2.5E ABS A/T

 - Toyota Hilux Vigo Champ Prerunner 2.5E ABS (NAVI) A/T และเปลี่ยนเกียร์อัตโนมัติใหม่เป็น 5 สปีด และยังเพิ่มพละกำลังในรุ่น 3.0 เป็น 171 แรงม้าที่ 3,600 รอบ/นาที (เดิม 3,400 รอบ) แรงบิดสูงสุด 36.6 กก.-ม. (เดิม 34.9) ที่ 1,400 - 3,200 รอบ/นาที นอกจากนี้ยังได้ปรับเซตช่วงล่างใหม่แบบ DTS ที่ Toyota บอกมาว่า นุ่มและหนึบขึ้น

ต่อมาในปี 2013 Toyota ได้ทำการปรับย่อยอีกครั้ง และเป็นการปรับให้รถมีความสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้นไปอีก ด้วยการให้ถุงลมนิรภัยคู่หน้า เข็มขัดนิรภัยแบบดึงรั้งกลับในทุกรุ่นย่อย ซึ่งบางค่ายยังให้อะไรไม่เท่านี้เลย และได้เพิ่มอีก 2 รุ่นย่อยใหม่ ได้แก่ Toyota Hilux Vigo Champ Smart Cab Prerunner เกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ 2.5G A/T Navi Toyota Hilux Vigo Champ Smart Cab Prerunner เกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ 2.5E A/T ABS มีการเพิ่มภายในสีดำในรุ่น Prerunner และ 4x4 เพิ่มระบบ Cruise Control ในตัวท็อป 4x4 และปรับเครื่องยนต์ทุกรุ่นให้รองรับกับมาตรฐาน Euro 4 เปลี่ยนเครื่องเสียงวิทยุใหม่ และเพิ่มระบบปรับอากาศอัตโนมัติในรุ่น 3.0G A/T รุ่น Prerunner และ 4x4

    และนี่ก็คือประวัติความเป็นมาเป็นไปของกระบะ Toyota Hilux ที่เรารวบรวมจากหลายๆแหล่งมาหลอมรวมกัน ซึ่งหวังว่าท่านผู้อ่านจะได้รับสาระและความรู้ไม่มากก็น้อยครับ และหวังว่าเรื่องนี้น่าจะช่วยฆ๋าเวลาหรืออาจเป็นแรงกระตุ้นอยากให้โฉมใหม่ของ Hilux ออกมาไวๆด้วยครับ มารอชมกันว่าครั้งต่อไป เราจะขุดตำนานของรถรุ่นไหน รอชมได้ครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก http://tpcnissan.blogspot.com/ และ http://th.wikipedia.org/wiki/โตโยต้า_ไฮลักซ์ ครับ


 แนะนำ ติชม พูดคุย ติดตามข่าวสารรถใหม่ฉับไวก่อนใครกับ Cars New Update ที่นี่!!


 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข่าวรถได้
ห้ามแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการพนัน หรือสิ่งผิดกฎหมาย

Like Box